https://timeline.line.me/post/_dY2NWEF6e2BPAHDMHwqj5IdBMu44Cexhleohsos/1152742043402013502
คุณธรรมของนักปกครอง
คำว่า อคติ เราได้ยินได้ฟังกันมาบ่อย ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงอคติความลำเอียง 4 ประการ คือ ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะความพึงพอใจ โทสาคติ ลำเอียงเพราะความโกรธ โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง และ ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว ซึ่งความลำเอียงเป็นทางมา แห่งความหวาดระแวงและแตกแยก เมื่อไม่มีความยุติธรรม สังคมย่อมจะไม่สงบสุข
บางคนอาจลำเอียงเพราะความรักใคร่ชอบพอกัน ทำให้ไปเข้าข้างอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เรียกว่าเลือกที่รักผลักที่ชัง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล เอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง เมื่อหลักประกันความเที่ยงตรงของชีวิตเอนเอียงแล้ว ก็เหมือนตราชั่งที่เสียดุล ทำให้ขาดความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำก็จะบังเกิดขึ้น ความรู้รักสามัคคีก็ลดลง
ถ้าหากมีความลำเอียงเพราะความโกรธ ความหลงหรือความกลัวซึ่งเนื่องมาจากทำถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ หรือเป็นเพราะความเกรงกลัวอำนาจของผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า ก็ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ ระบบต่างๆ ก็จะรวน ยิ่งถ้าหากอคติเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจ มียศ มีตำแหน่งสูงมากเพียงไร ผลกระทบที่จะมีต่อส่วนรวม ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนรอบข้าง รวมไปถึงประเทศชาติบ้านเมือง และคนทั้งโลกก็มีมากขึ้นเพียงนั้น
เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ไม่มีความลำเอียง ไม่ประพฤติล่วงอคติทั้งสี่ จึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งสำหรับนักปกครอง เพราะสามารถนำพาประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะความรัก ความชัง ความหลง และความกลัว ยศของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ดุจพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ฉะนั้น”
จากรายการ ธรรมะเพื่อประชาชน
#lifEandSoul
#ติดตาม ธรรมะ คำคม ข้อคิด ได้ที่
LINE @ : https://line.me/R/ti/p/%40jjx9044s และคลิกที่ Home ครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น